หน้าเว็บ

BLOG



ตลาดหุ้นในปี 2014 จะผันผวนแค่ไหนและจุดต่ำสุดจะเป็นเท่าใด ซึ่งตรงนี้ ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับว่าผลลัพธ์ของวิกฤติการเมืองไทยในขณะนี้ จะคลี่คลายลงแบบใด
บทความนี้ ขอประเมินตลาดหุ้นไทยในปี 2014 โดยใช้งานศึกษาผลกระทบของเหตุการณ์ทางการเมืองว่าจะมีผลต่อตลาดหุ้นมากน้อย เพียงใด จากข้อมูล 20 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังไปกว่า 80 ปี ในการตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น


ตลาดหุ้นไทยในปี 2014


ก่อนอื่น ขอเล่าคร่าวๆ ถึงวิธีการศึกษาดังกล่าวก่อน เริ่มจากตัวแปรที่มีผลต่อตลาดหุ้น ประกอบด้วย ปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองระดับประเทศ ประกอบด้วย การเลือกตั้ง ระดับของความเป็นเผด็จการในประเทศ และระดับความเสี่ยงทางการเมืองโดยรวม ซึ่งขึ้นกับเสถียรภาพของรัฐบาล เสถียรภาพของปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความตึงเครียดของแนวคิดทางการเมืองในประเทศ ตบท้ายด้วยปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองระดับโลก โดยงานศึกษาชิ้นนี้ ได้เชื่อมโยงตัวแปรปัจจัยทางการเมืองดังกล่าวทั้งหมดให้ไปถึงดัชนีตลาดหุ้น ในประเทศ ถึงระดับหุ้นในกลุ่มรายอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านระดับการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ ความสามารถในการที่สัญญาและโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ และระดับการพึ่งพาของการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ต่อแรงงานว่ามีมากน้อยเพียงใด
ผลลัพธ์ของการศึกษาดังกล่าวซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้นำไป ศึกษา จากการวิเคราะห์โดยใช้จำนวนตัวอย่างข้อมูลเกือบ 7,000 ตัวอย่าง จะพบว่าหุ้นในประเทศที่มีพรรคการเมืองเข้ามาเป็นรัฐบาลอยู่พรรคเดียวเป็น ระยะเวลานานๆ จะมีดัชนีหุ้นที่สูงกว่าหุ้นที่ไม่มีคุณลักษณะดังกล่าวอยู่โดยเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ 20 ในขณะเดียวกันดัชนีหุ้นของประเทศที่ความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ในระดับสูง จะมีดัชนีหุ้นที่ต่ำกว่าประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเมืองในระดับต่ำอยู่ กว่าร้อยละ 30
คราวนี้ หากมาพิจารณาให้ลึกถึงสาเหตุต่างๆ ของการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ในบ้านเราในช่วงนี้ว่าจะมีผลต่อดัชนีหุ้นไทยมากน้อยเพียงใด จากระดับของดัชนี SET ณ ปลายเดือนพฤศจิกายน 2013 ที่ระดับประมาณ 1,370 จุด ซึ่งความเสี่ยงทางการเมืองของไทยตอนนั้น ยังอยู่ที่เกณฑ์เฉลี่ยในอดีต จะพบว่า
หนึ่ง การมีหรือไม่มีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2014 จะส่งผลทั้งทางจิตวิทยาและทางพื้นฐานต่อ SET อยู่กว่า 40 จุด
สอง ในช่วงหลัง ผมมีความเห็นว่าเวลาต่างชาติตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้น มักจะชอบลงในตลาดที่มีเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่สูงๆ ไม่ชอบตลาดของประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบที่พรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวกันแบบ สูสี ขึ้นมาเป็นรัฐบาลหรือมีกลุ่ม 2 กลุ่มที่มีศักยภาพใกล้เคียงกันในประเทศ ซึ่งตรงจุดดังกล่าว ในบ้านเราตอนนี้ มีลักษณะเป็นอย่างหลังมากขึ้นๆ จุดนี้มีผลต่อดัชนี SET ให้ลดลงไปจากเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ลงไปประมาณ 43 จุด
ท้ายสุด การที่ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตั้งแต่ปลายเดือน พฤศจิกายน ปีที่แล้ว ในมุมมองการลงทุนของต่างชาติ จะสอดคล้องกับหัวข้อการบังคับใช้ของกฎหมายของรัฐ ซึ่งฝรั่งจะให้ความสำคัญกับปัจจัยดังกล่าวค่อนข้างมาก ณ วันนี้ หากเหตุการณ์ทางการเมืองไทยมีความรุนแรงมากขึ้นๆ และส่อเค้ายืดเยื้อ จะส่งผลต่อดัชนี SET ประมาณ 166 จุด
โดยสรุป หากให้ผมมองตลาดหุ้นไทยในปี 2014 ว่ากว่าจะฝ่าโคตรวิกฤติการเมืองเที่ยวนี้ ท่ามกลางความเห็นต่างของแนวคิดทางการเมืองจากทั้ง 2 ขั้ว ผมมีความเห็นว่า ดัชนี SET ยังมี room ที่จะลงได้อีกประมาณ 150 จุด หากการเมืองมีความรุนแรง ในระดับสูงมากจากระดับดัชนีหลักทรัพย์ในขณะนี้ ทว่าจะลดลงน้อยกว่า ผลการศึกษาดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าวิกฤติทางการเมือง ของไทยในตอนนี้จะสามารถคลี่คลายได้เร็วหรือช้า รวมถึงว่ารุนแรงมากหรือน้อยเพียงใดนับจากวินาทีนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: